News

| Tuesday, 06 July 2021 |
Written by 

เหตุการณ์ร้ายแรงหรือภาวะวิกฤติ รับมืออย่างไรให้ธุรกิจไม่หยุดชะงัก

จากเหตุการณ์โรงงานระเบิดในโซนกิ่งแก้วส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างทั้งในภาคธุรกิจ และสังคม รวมถึงประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสารเคมีรั่วไหลเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้คงเกิดคำถามมากมายว่าจะรับมือและจัดการอย่างไรกับเหตุการณ์ร้ายแรงหรือภาวะวิกฤติ ทางธรรมนิติ จึงอยากแนะนำให้บริษัทหรือองค์กร ไม่ว่าจะขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ทำความรู้จักและเข้าใจเรื่องการจัดทำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ Business Continuity Plan (BCP) เพื่อให้มีแนวทางปฏิบัติเมื่อเหตุการณ์ร้ายแรงหรือภาวะวิกฤติ

 

แผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP) เป็นแผนปฏิบัติการเพื่อใช้ในการตอบสนองการฟื้นคืนการกลับคืนสู่สภาวะการปฏิบัติงานปกติในระดับที่ยอมรับได้ของบริษัท ในขณะที่เกิดเหตุการณ์อันทำให้เกิดการหยุดชะงักทางธุรกิจในพื้นที่ของบริษัท ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถปฏิบัติงานหรือให้บริการได้ เพื่อให้มั่นใจว่าในกรณีที่มีเหตุการณ์ร้ายแรงหรือภาวะวิกฤติที่ทำให้การปฏิบัติงานตามปกติต้องหยุดชะงัก อันเนื่องจากอุบัติภัย (Incident) เกิดขึ้น ผลิตภัณฑ์และบริการหลักของบริษัทจะสามารถฟื้นฟูได้ในระดับขั้นตามที่กำหนดไว้ในระยะเวลาที่เหมาะสมได้อย่างต่อเนื่อง ควบคุมและบรรเทาความเสียหายรวมไปถึงลดผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นแก่บริษัท รวมถึงความเสียหายภายนอกที่ได้รับผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด เช่น การสูญเสียบุคลากรและทรัพย์สิน ผลกระทบทางการเงิน กฎหมาย เป็นต้น

 

ดังนั้นบริษัทควรมีการประเมินความเสี่ยงของกิจการที่ดำเนินอยู่ก่อนว่า จากสภาพแวดล้อม สภาวะการณ์ในปัจจุบัน อาจจะเกิดเหตุการณ์ใดได้บ้างที่กระทบกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยการประเมินความเสี่ยงขององค์กรนั้นพิจารณาจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก เช่น ความพร้อมของระบบสารสนเทศ ความพร้อมด้านการเงิน ทรัพยากรบุคคล ระบบรักษาความปลอดภัย สภาพแวดล้อมในปัจจุบัน หรือกฎหมาย เป็นต้น โดยบริษัทจะพิจารณาจัดลำดับความเสี่ยง ซึ่งถ้าประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่าอยู่ในเกณฑ์สูงและสูงมาก บริษัทจะนำความเสี่ยงเหล่านั้นมาทำการวางแผนในการจัดการกับความเสี่ยงหรือวางแผนในการรับมือกับความเสี่ยงนั้นๆ

 

ทั้งนี้ควรมีการจัดตั้งทีมติดต่อสื่อสารสำหรับการประสานงานเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงหรือภาวะวิกฤติ รวมทั้งข้อมูลรายชื่อ และเบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญของผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล สถานีตำรวจท้องที่สถานีดับเพลิง ฯลฯ ต่างๆ ที่รองรับสำหรับการสนับสนุนช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน และช่วยในการสนับสนุนเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงหรือภาวะวิกฤติ

 

 

ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดที่บริษัทต้องทำเป็นอันดับแรกเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงหรือภาวะวิกฤติคือ

 

  • ผู้ประสบเหตุฯ ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและ/หรือหัวหน้าทีมระงับเหตุนั้น ๆ ทันที เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ไม่สามารถระงับเหตุได้ และอาจทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

  • ทีมติดต่อสื่อสารประสานงานหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล สถานีตำรวจท้องที่สถานีดับเพลิง ฯลฯ

  • พนักงานทุกคนปฏิบัติตามลำดับความสำคัญของแผนระงับเหตุฉุกเฉินเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การกู้คืนธุรกิจโดยรวมหรือแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ

  • มีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นสำหรับกระบวนการทางธุรกิจที่สำคัญ สามารถให้บริการพื้นฐานได้ในระดับที่เหมาะสม

  • การสื่อสาร

  • จัดสถานที่ส่วนกลางที่ปลอดภัยสำหรับพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

  • พนักงานที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ต้องทราบถึงเหตุฉุกเฉินและมีหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกับบริษัท

  • สร้างและตั้งค่าสำหรับการใช้งานระบบอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศที่พร้อมใช้งาน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าจะต้องมีการดำเนินการใดบ้าง

  • ติดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (พนักงาน, คู่ค้า, ลูกค้า, ผู้ได้รับผลกระทบ ฯลฯ) เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการเปิดดำเนินการของสำนักงานชั่วคราว และให้มีช่องทางการติดต่อจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยโทรศัพท์หรือสื่อต่าง ๆ ที่สามารถใช้งานได้ เช่น E-mail, Line เป็นต้น

 

แผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ Business Continuity Plan (BCP) ยังต้องมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละเหตุการณ์รวมถึงวิธีการดำเนินการต่าง ๆ ไว้ ดังนี้

 

  • กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ

  • กำหนดกระบวนการระงับเหตุและกู้คืนขณะเกิดเหตุ

  • กำหนดการบริหารจัดการกับพนักงาน/เจ้าหน้าที่และบุคคลอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์ในทันทีทั้งในและนอกเวลาทำการ

  • กำหนดสำนักงานกู้คืนธุรกิจ (สำนักงานภายนอก/สำนักงานชั่วคราว

  • กำหนดลำดับความสำคัญและกระบวนการสื่อสาร

  • กำหนดแผนรับมือฉุกเฉินด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

จะเห็นได้ว่าเมื่อองค์กรหรือบริษัทประสบเหตุการณ์ร้ายแรงหรือภาวะวิกฤติ จะมีขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการหลักของบริษัทจะสามารถฟื้นฟูได้ในระดับขั้นตามที่กำหนดไว้ในระยะเวลาที่เหมาะสมได้อย่างต่อเนื่องและสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจรวมถึงรับผิดชอบต่อสังคมได้ต่อไป

 

เรียบเรียงโดย : ดร.เพิ่มทรัพย์ เวชสุกรรม รองผู้จัดการฝ่าย ฝ่ายพัฒนาระบบ

ที่มาของภาพ :  ไทยรัฐออนไลน์

 

Last modified on Tuesday, 21 December 2021