News

| Friday, 10 February 2017 |

เปิดกลโกง ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล สูญงบกว่าหมื่นล้าน

เปิดกลโกง ค่ารักษาพยาบาลและค่ายา รัฐสูญเสียปีละกว่า 1 หมื่นล้าน คลังดิ้น หาทางปิดรูรั่ว ก่อนงบประมาณจะพุ่งหลักแสนล้าน..

 

ปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทย เป็นปัญหาใหญ่ที่มีมานาน และฝังรากลึก แผ่ขยายไปทุกหน่วยทุกองค์กร ทำให้การแก้ไขปัญหามีความยากมากขึ้นทุกๆปี แม้ในรัฐบาลปัจจุบันจะประกาศทำสงครามกับการคอร์รัปชั่น จนภาพรวมจะดูดีขึ้นบ้างจากการสำรวจขององค์กรในประเทศอย่าง ศูนย์ พยากรณ์ เศรษฐกิจ และ ธุรกิจ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย ดีที่สุดจากการสำรวจในรอบ 6 ปี หากคำนวณจากงบประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท รัฐจะสูญเสียวงเงิน 120,000 ล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ จากเดิมจะสูญเสียระดับ 200,000 – 300,000 ล้านบาท ส่วนผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีในระดับ 0.42-1.27

แต่ในสายตาองค์กรภายนอกยังคงมองปัญหาคอร์รัปชั่น ในประเทศไทยยังคงรุนแรงและปรับลดอันดับลงไปอีก ล่าสุด
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้จัดอันดับประเทศทั้งหมด 168 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ปัญหาคอร์รัปชั่นในระบบการรักษาพยาบาล ค่ายารักษาโรค ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่ โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์เคยให้ข้อมูลไว้ว่า


“ค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินจริงเกิดขึ้นหลังตรวจพบความผิดปกติ ทำให้เงินค่ารักษาพยาบาล และค่ายาปรับเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2559 มีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 6 หมื่นล้านบาท แต่มีการเบิกค่ารักษาและค่ายาสูงถึง 7.1 หมื่นล้านบาท”

จะเห็นได้ว่า มีส่วนต่างที่อาจจะมีการรั่วไหลออกไปถึง กว่า 1 หมื่นล้านบาท ต่อปีทีเดียว

สำหรับแนวทางที่ ภาครัฐโดยกระทรวงการคลัง พยายามหาทางอุดรอยรั่วในเรื่องนี้ คือ เปลี่ยนแปลงระบบ การรักษาพยาบาล จากปัจจุบัน ที่รัฐเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับข้าราชการ ลูกจ้าง ต่างๆทั้งหมด ไป เป็นนำงบประมาณไปซื้อระบบประกันจาก บริษัทประกันเอกชน เพื่อให้เข้ามาดูแลการรักษาพยาบาลข้าราชการทั้งระบบ แต่ แนวทางนี้ทุกคัดค้านจากแวดวงสาธารณสุข อย่างเต็มที่ โดยมองว่า ควรหาทางอุดรอยรั่วดีกว่า โยนชิ้นปลามัน งบประมาณทั้งก้อน 6- 7 หมื่นล้านบาทไปเอื้อบริษัทเอกชน

ล่าสุด รัฐมนตรีคลังได้ออกมาเปิดเผยว่า มีแนวคิดออกบัตรเบิกเงินรักษาสุขภาพให้ข้าราชการและครอบครัวประมาณ 5 ล้านราย เพื่อใช้ในการชำระค่ารักษาพยาบาล เมื่อต้องการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสังกัด ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่อุดช่องโหว่จากการรั่วไหลของงบประมาณที่ใช้ในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการที่มีสูงขึ้น และยังป้องกันปัญหาเวียนใช้สิทธิ์ หรือ เบิกยาเกินควร โดยคาดว่าจะสามารถออกบัตรได้ภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ หลักการเบื้องต้น บัตรที่นำมาใช้สามารถรูดจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัว แต่หากกรณีลืมนำบัตรติดตัวไปด้วยเมื่อรับการรักษา ให้ข้าราชการสำรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลไปก่อน และทำเรื่องเบิกเงินคืนในภายหลัง โดยกรมบัญชีกลางจะทำการจ่ายเงินคืนผ่านระบบพร้อมเพย์ ซึ่งช่วยลดการทุจริต ยักยอกเงินค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาลได้อย่างแน่นอน

ก็ต้องติดตามกันต่อไป

สำหรับ การรั่วไหลของค่ารักษาพยาบาลและค่ายา มีหลายลักษณะ วันนี้เราพยายามรวบรวมวิธีการที่เปิดเผยโดยกรมบัญชีกลาง และ สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ เปิดเผยดังนี้

-เวียนเทียนสิทธิ สมัครขอใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงไว้หลายโรงพยาบาล และตระเวนไปใช้บริการเพื่อขอรับยาด้วยโรคเดียวกัน ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน

- การสวมสิทธิ คือผู้มีสิทธิเป็นข้าราชการ แต่ให้ญาติพี่น้องที่ไม่ใช่ข้าราชการมาสวมสิทธิแทน โดยสมยอมระหว่างโรงพยาบาล และข้าราชการผู้มีสิทธิ

- การสมคบกันระหว่างโรงพยาบาล แพทย์ กับบริษัทผู้จำหน่ายยา ในรูปแบบของค่าคอมมิชชั่น เนื่องจากโรงพยาบาลและแพทย์มีความสัมพันธ์กับยอดจำหน่ายยาของแต่ละบริษัทที่จำหน่ายยาให้กับโรงพยาบาล และแพทย์ที่มีความเห็นสนับสนุนยาชนิดนั้นๆ ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น ยาแถม ตัวเงิน หรืออาจเป็นการท่องเที่ยวต่างประเทศในรูปแบบของการสัมมนาดูงานในต่างประเทศ

-การกระทำความผิดของบุคลากรของโรงพยาบาล ที่เรียกว่าแพทย์ยิงยา คือเมื่อคนไข้ที่เป็นโรคธรรมดาไปหาแพทย์ แพทย์จะเห็นในใบเบิกยาว่าเป็นหลายโรค จะนัดแนะกับเจ้าหน้าทีห้องจ่ายยา เมื่อคนไข้ไปรับยาห้องจ่ายยา จะให้ยาคนไข้เฉพาะโรคจริง ส่วนยาที่แพทย์สั่งเกิน จะเก็บไว้เพื่อให้การใช้ยาถึงเพดานที่จะได้ค่าคอมมิชชั่นยา ที่บริษัทขายยาเสนอไว้ ทำให้แพทย์ต้องยิงยาเพื่อให้ถึงเพดาน

-แพทย์มีพฤติกรรมสั่งยาให้ตัวเองสัปดาห์ละประมาณ 2-3 หมื่นบาท และยังสั่งยาเกินความจำเป็นในรายที่ผู้ป่วยไม่ค่อยได้มาใช้สิทธิที่โรงพยาบาล ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้มีการนำเวชระเบียนของผู้ป่วยมาเบิกยาโดยผู้ป่วยไม่ทราบเรื่อง

รวมถึงยังพบพฤติกรรมการบันทึกข้อมูลจำนวนยาสูงกว่าที่แพทย์สั่งจ่าย เช่น หมอสั่งจ่ายยาจำนวน 300 เม็ด แต่เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลจ่ายยา 1,000 เม็ด

-กรณีแพทย์สั่งจ่ายยาเกินความจำเป็นให้แก่ผู้ป่วย และสั่งจ่ายยาที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคที่วินิจฉัย เช่นผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคเข่าเสื่อม แพทย์ก็สั่งจ่ายยารักษาโรคเข่าเสื่อมในขณะเดียวกันแพทย์สั่งจ่ายน้ำตาเทียมไปด้วย

-แพทย์บางรายมีเป้าหมายจ่ายยาออกมามากๆ เพื่อทำยอดให้กับบริษัทยา แลกกับผลประโยชน์ด้านอื่นๆ

-แพทย์บางรายสั่งจ่ายยาให้ตนเอง และบุคคลในครอบครัวด้วยตัวยาเดียวกัน โดยไม่มีการวินิจฉัยโรคและพบว่าแพทย์ผู้นั้นมีคลินิกส่วนตัว

-แพทย์สั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลัก ซึ่งเป็นยาที่มีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับราคายาในบัญชีหลัก

-เกิดจากช่องโหว่ระบบการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันเอง เนื่องจากเป็นระบบการจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง โดยผู้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเองเหมือนในอดีต และผู้ใช้สิทธิไม่รู้ว่าตนเองใช้สิทธิไปเท่าใด ขณะที่โรงพยาบาลแจ้งค่ารักษากรมบัญชีกลางเท่าไหร่ กรมบัญชีกลางก็จ่ายงบประมาณชดใช้คืนเท่านั้น

-ระบบคอมพิวเตอร์ของแต่ละโรงพยาบาลไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ เนื่องจากโรงพยาบาลมีสังกัดหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการช็อปปิ้งยาได้

สิ่งเหล่านี้คือ รูรั่ว ที่ทำให้งบประมาณในการรักษาพยาบาลข้าราชการสูงขึ้นทุกปี ๆ จนเกรงกันว่า จะทะลุ แสนล้านบาทในไม่ช้าหากไม่มีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่ง การรั่วไหลจากวิธีการต่างๆนั้นเกี่ยวข้องกับ 2 กลุ่มหลักคือ 1 ข้าราชการที่เป็นผู้ใช้สิทธิ กับ สถานพยาบาลและบุคคลกรที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ทางบัญชี เภสัชกร แม้กระทั้ง แพทย์ เอง


การทำบัตรเพื่อรูดค่ารักษาพยาบาล หรือ โอนให้โอนให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามารับผิดชอบ จะแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดหรือ..? ติดตามกันต่อไป

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มาภาพ : Sanook

หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่

เบอร์ 02-596-0500 ต่อ 327 ด้วยความยินดียิ่ง

Last modified on Thursday, 23 August 2018