ข่าวสาร

| วันศุกร์, 09 มีนาคม 2561 |
Written by 

ประมวลจรรยาบรรณ ตามมาตรฐานสากลงานวิชาชีพตรวจสอบภายใน

จุดประสงค์ของ ประมวลจรรยาบรรณ คือเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมของจรรยาบรรณในวิชาชีพการตรวจสอบภายใน การตรวจสอบภายใน (Internal Auditing) คือ การให้ความเชื่อมั่นและการให้คำปรึกษา อย่างเที่ยงธรรมและเป็นอิสระ เพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กร 

 

บทนำ
จุดประสงค์ของ ประมวลจรรยาบรรณ คือเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมของจรรยาบรรณในวิชาชีพการตรวจสอบภายใน
การตรวจสอบภายใน (Internal Auditing) คือ การให้ความเชื่อมั่นและการให้คำปรึกษา อย่างเที่ยงธรรมและเป็นอิสระ เพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กร   การตรวจสอบภายในช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย ด้วยการประเมินและปรับปรุงประสิทธิผลของกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการกำกับดูแล อย่างเป็นระบบ และเป็นระเบียบ
ประมวลจรรยาบรรณจึงเป็นสิ่งจำเป็น และเหมาะสม ต่อวิชาชีพการตรวจสอบภายใน ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ให้ความเชื่อมั่นอย่างเที่ยงธรรม ในการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการกำกับดูแล ประมวลจรรยาบรรณ ครอบคลุมคำจำกัดความของการตรวจสอบภายใน โดยผนวกสาระสำคัญอีกสองประการคือ
   

หลักการ (Principles) ที่เกี่ยวกับวิชาชีพและการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน
   

หลักปฏิบัติ (Rules of Conduct) คือสิ่งที่ผู้ตรวจสอบภายในพึงประพฤติปฏิบัติ  หลักปฏิบัติเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยในการตีความและประยุกต์หลักการไปใช้จริง และพึงใช้เป็นแนวทางในการประพฤติตนอย่างมีจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบภายใน ประมวลจรรยาบรรณ (Code of Ethics) และ กรอบการปฏิบัติงานวิชาชีพ (Professional Practices Framework) ตลอดจนแถลงการณ์ต่างๆ ของ The Institute of Internal Auditors (IIA) และ สมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย (ส.ต.ท.) มีขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ตรวจสอบภายใน  คำ “ผู้ตรวจสอบภายใน” หมายถึง สมาชิกของ IIA และ ส.ต.ท.   ผู้ที่ได้รับหรืออยู่ระหว่างขอรับประกาศนียบัตรวิชาชีพจาก IIA และ ส.ต.ท.   และผู้ที่ให้บริการตรวจสอบภายในตามคำจำกัดความของการตรวจสอบภายใน

การนำไปปฏิบัติและบังคับใช้
ประมวลจรรยาบรรณ สามารถนำไปปฏิบัติได้ทั้งในระดับบุคคลและหน่วยงาน ที่ให้บริการตรวจสอบภายใน สมาชิกของ IIA และ ส.ต.ท. และผู้ที่ได้รับหรืออยู่ระหว่างขอรับประกาศนียบัตรวิชาชีพของ IIA และ ส.ต.ท. ที่ฝ่าฝืน ประมวลจรรยาบรรณ จะต้องถูกตรวจสอบและดำเนินการ ตามกฎระเบียบและแนวปฏิบัติการบริหารของ IIA และ ส.ต.ท.  (By laws and Administrative Guidelines)   การกระทำใด ๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ในหลักปฏิบัติ (Rules of Conduct) ไม่ได้หมายความว่าเป็นที่ยอมรับ หรือทำให้สมาชิกและผู้ที่ได้รับหรืออยู่ระหว่างขอรับประกาศนียบัตร พ้นจากความรับผิดทางวินัยได้หลักการ (Principles)

ผู้ตรวจสอบภายในพึงยึดถือและดำรงไว้ซึ่งหลักการต่อไปนี้ :
                ความซื่อสัตย์ (Integrity)
ความซื่อสัตย์ของผู้ตรวจสอบภายในสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและทำให้วิจารณญาณของผู้ตรวจสอบภายในเป็นที่น่าเชื่อถือ
                ความเที่ยงธรรม (Objectivity)
ผู้ตรวจสอบภายในจะแสดงความเที่ยงธรรมเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ ในการรวบรวม ประเมิน และสื่อสาร ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมหรือกระบวนการที่ตรวจสอบ ผู้ตรวจสอบภายในจะประเมินสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง อย่างเป็นกลาง ไม่ลำเอียง และไม่ปล่อยให้อคติหรือบุคคลอื่นมีอิทธิพลเหนือการประเมิน
                การรักษาความลับ (Confidentiality)
ผู้ตรวจสอบภายในจะเคารพคุณค่าและสิทธิของผู้เป็นเจ้าของในข้อมูลที่ตนได้รับ และไม่เปิดเผยข้อมูลโดยปราศจากอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสม  เว้นแต่เมื่อกฎหมายหรือวิชาชีพกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
               ความสามารถในหน้าที่ (Competency)
ผู้ตรวจสอบภายในจะใช้ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่จำเป็น ในการปฏิบัติงานตรวจสอบ

หลักปฏิบัติ (Rules of Conduct)
               1. ความซื่อสัตย์ (Integrity)
ผู้ตรวจสอบภายในจะต้อง :
1.1 ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร และมีสำนึกรับผิดชอบ
1.2 ปฏิบัติตามกฎหมาย และเปิดเผยข้อมูลตามที่กฎหมายและวิชาชีพกำหนด
1.3 ไม่มีส่วนร่วมโดยเจตนาในกิจกรรมที่ขัดต่อกฎหมาย หรือการกระทำที่อาจเสื่อมเสียต่อวิชาชีพการตรวจสอบภายในหรือองค์กร
1.4 เคารพและสนับสนุนวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องตามกฎหมายและหลักจริยธรรม ขององค์กร
                2. ความเที่ยงธรรม (Objectivity)
ผู้ตรวจสอบภายในจะต้อง :
2.1 ไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ที่บั่นทอนหรืออาจบั่นทอนการประเมินอย่างเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ของตน ทั้งนี้ รวมไปถึงการกระทำหรือความสัมพันธ์ที่ขัดต่อผลประโยชน์ขององค์กรด้วย
2.2 ไม่รับสิ่งตอบแทนใดๆ ที่บั่นทอนหรืออาจบั่นทอนวิจารณญาณของผู้ประกอบวิชาชีพ
2.3 เปิดเผยความจริงทั้งหมดที่ทราบ ซึ่งหากละเว้นไม่เปิดเผยแล้ว อาจทำให้รายงานผลการตรวจสอบบิดเบือนไป
               3. การรักษาความลับ  (Confidentiality)
ผู้ตรวจสอบภายในจะต้อง :
3.1 รอบคอบในการใช้ และปกป้องข้อมูลที่ได้มาระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
3.2 ไม่ใช้ข้อมูลที่ได้มาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อการใด ที่ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องตามกฎหมายและหลักจริยธรรม ขององค์กร
               4. ความสามารถในหน้าที่ (Competency)
ผู้ตรวจสอบภายในจะต้อง :
4.1 ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในงานส่วนที่ตนมีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ที่จำเป็นสำหรับงานส่วนนั้น เท่านั้น
4.2 ปฏิบัติงานตรวจสอบภายในโดยยึด มาตรฐานสากลการปฏิบัติงานวิชาชีพการตรวจสอบภายใน(International Standards for the Professional Practice of Internal Auditing) เป็นหลัก
4.3 พัฒนาความชำนาญ ประสิทธิผล และคุณภาพของบริการ อย่างต่อเนื่อง

Last modified on วันจันทร์, 17 กันยายน 2561