ข่าวสาร

| วันศุกร์, 03 มีนาคม 2566 |
Written by 

IPO หรือ Initial Public Offering

IPO หรือ Initial Public Offering คือ การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ของบริษัทมหาชนจำกัด ต่อประชาชนในครั้งแรก

IPO นั้นเป็นหนึ่ง ในวิธีการที่จะได้มาซึ่งเงินทุน แต่การที่ธุรกิจจะตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น มีประโยชน์และข้อควรพิจารณา ดังต่อไปนี้

ประโยชน์ ของการ IPO

1. ทำให้เกิดการจัดระบบการควบคุมภายใน การจัดการ และการรายงานทางการเงินที่น่าเชื่อถือ

2. สร้างความสามารถในการแข่งขัน

3. วงเงินกู้ที่ได้รับจากสถาบันการเงินสูงขึ้น ดอกเบี้ยจ่ายต่ำลง

4. ได้ทราบมูลค่าที่แท้จริงของกิจการจากการมีราคาตลาดในการซื้อขาย

5. เพิ่มโอกาสในการหาพันธมิตร ภาพลักษณ์ที่ดี และน่าเชื่อถือ

 

ข้อควรพิจารณา

1. ปริมาณงานเพิ่มขึ้นจากเดิม การปิดงบการเงินปีละครั้ง ต้องเป็นอย่างน้อย 4 ครั้ง และต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนตามกำหนดเวลา

2. มีผู้เข้ามาร่วมตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ

3. มีแรงกดดันต่อความคาดหวังของผู้ลงทุน

 

IPO ต้องเกี่ยวข้องกับใครบ้าง

1. สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) : อนุญาตการเสนอขาย IPO และกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของบริษัท ก่อนที่จะเป็นบริษัทจดทะเบียน

2. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) : จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการซื้อขายหลักทรัพย์ตลอดจนบริการ ที่เกี่ยวข้อง และกำกับดูแลให้ทำตามกฎเกณฑ์เช่น กฎเกณฑ์การซื้อขาย การเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา

3. กระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce) : จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน/เพิ่มทุน

4. Financial Advisor (FA) ที่ปรึกษาทางการเงิน : ช่วยในการจัดเตรียมข้อมูล และดูแลให้บริษัทปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ให้ถูกต้อง โดยเริ่มตั้งแต่ด้านการดำเนินธุรกิจการจัดโครงสร้างทุนและโครงสร้างธุรกิจ ตลอดจนให้คำแนะนำในการปรับปรุง ระบบการบริหารจัดการ เพื่อให้บริษัทมีคุณสมบัติพร้อมสำหรับการยื่นคำขอต่อ สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ

5. ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต (Auditor) : จะให้คำแนะนำและตรวจสอบ งบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีรายงาน ของผู้สอบบัญชีถือเป็นข้อมูลสำคัญในงบการเงิน เป็นการรายงานความถูกต้อง ก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะ

6. ผู้ตรวจสอบระบบงานภายใน (Internal Control Auditor) : ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ประเมิน ให้ความเห็น คำแนะนำในการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง

7. ผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter) : ช่วยกระจายหุ้น IPO

8. ที่ปรึกษากฎหมาย (Lawyer) : ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ มี 3 เรื่อง

1. โครงสร้างธุรกิจ และโครงสร้างกรรมการ

การจัดโครงสร้างธุรกิจ ให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความชัดเจน ไม่มีการทำธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นบางกลุ่ม รวมทั้งต้องมีการจัดโครงสร้าง คณะกรรมการในฐานะตัวแทนของผู้ถือหุ้น ให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน โปร่งใส และแบ่งแยกอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจน โดยคณะกรรมการบริษัท จะต้องประกอบด้วย

1.1 กรรมการบริหารและกรรมการอิสระ

1.2 กรรมการอิสระควรคัดเลือกจากคนที่รู้และเข้าใจในธุรกิจของบริษัท และ

1.3 คณะกรรมการตรวจสอบต้องมีอย่างน้อย 3 คน (ประธานกรรมการ ควรเป็นคนละคนกับ CEO ประธานกรรมการ ควรเป็นกรรมการอิสระ)

 

2. ระบบบัญชีและรายงานทางการเงิน

ระบบการจัดทำงบการเงินให้ เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี เพื่อให้รายงาน ทางการเงินนั้น สะท้อนความสามารถใน การดำเนินงานของกิจการได้อย่างถูกต้อง และต้องเปลี่ยนมาตรฐานการบัญชีจากกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ Non-Publicly Accountable Entities (NPAEs) มาเป็นมาตรฐานการบัญชีจากกิจการ ที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ Publicly Accountable Entities (PAEs) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน Thai Financial Reporting Standards (TFRS) และบริษัทจะต้องมี CFO ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบสูงสุดในสายงานบัญชีและการเงิน มีสมุห์บัญชีเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโดยตรงในการควบคุมดูแลการทำบัญชี

 

3. ระบบการควบคุมภายใน

การมีระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ สามารถป้องกัน บริหาร จัดการความเสี่ยงหรือความเสียหาย ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี และการมีระบบการควบคุมด้านการบริหารจัดการ ที่แสดงให้เห็นว่า มีระบบ Check and Balance ที่ดี มีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ชัดเจน

 

ดังนั้น ระบบบควบคุมภายในถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยกำหนดให้มี Internal Auditor ตรวจสอบและรับรองว่าระบบควบคุมที่มีนั้น เพียงพอและครอบคลุมความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจ มีการปฏิบัติ ตามข้อกำหนดในการควบคุมอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีโครงสร้างการบริหารงาน ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าการควบคุมภายในนั้นมีความสำคัญและไม่ถูกละเลยในการเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ

 

 

 

เรียบเรียงโดย คุณภัทชิรา มิ่งขวัญ

รองผู้จัดการฝ่าย

Last modified on วันศุกร์, 26 พฤษภาคม 2566