News

| Friday, 03 December 2021 |
Written by 

ก๊าซเรือนกระจก และการเปิดเผยข้อมูลและรายงานด้านความยั่งยืนสัมพันธ์อย่างไร

ข้อมูลด้านความยั่งยืน เป็นข้อมูลที่แสดงถึงนโยบาย ผลกระทบ และผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของธุรกิจ ภายใต้ระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือที่เรียกว่าข้อมูล ESG ที่จะช่วยให้ผู้มีส่วนได้เสียได้เห็นถึงมุมมองการดำเนินธุรกิจขององค์กรในมิติที่กว้างกว่าข้อมูลทางการเงิน แล้วจะมีหัวข้ออะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง และมีความสำคัญอย่างไร มาหาคำตอบกันค่ะ

 

ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กรทั้งในด้านความสามารถในการจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส มีศักยภาพในการแข่งขัน และการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้ครบถ้วนในแบบ 56-1 One report เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียได้ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนขององค์กร

ทั้งนี้ หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งสามารถนำมาเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจขององค์กรได้ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร และสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนในระดับประเทศหรือระดับโลก ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอย่างนึง คือ ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบัน ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อโลก และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในระยะยาว

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas หรือ GHG)  คือ ก๊าซที่เป็นองค์ประกอบของบรรยากาศโลกห่อหุ้มโลกไว้เสมือนเรือนกระจก ที่ดูดซับและปลดปล่อยรังสีภายในช่วงความถี่ (คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) อินฟราเรดร้อน (Thermal Infrared Range) ทำให้เกิดการสูญเสียความร้อนบางส่วนออกสู่ห้วงอวกาศภายนอก และปลดปล่อยความร้อนกลับสู่พื้นผิวโลก โดยก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วยก๊าซ 7 ชนิด ดังนี้


ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide: CO2)

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเกิดโดยธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อเป็นแหล่งพลังงานในโรงงาน ภาคการขนส่ง หรือเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้การตัดไม้ทำลายป่ายังเป็นตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ


ก๊าซมีเทน (Methane: CH4)

แหล่งกำเนิดของก๊าซมีเทนมีอยู่มากมายทั้งในธรรมชาติและที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การทำนาข้าว ปศุสัตว์ การย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิต ขยะอินทรีย์ที่กำลังย่อยสลาย (ในธรรมชาติและในที่ทิ้งขยะ) การเผาไหม้มวลชีวภาพ และการเผาไหม้เชื้อเพลิงประเภทถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ การฝังกลบขยะ การบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้ออกซิเจน


ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (Nitrous Oxide: N2O)

ก๊าซชนิดนี้มีอยู่ในธรรมชาติจากมหาสมุทรและจากการย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิตในดินโดยแบคทีเรีย แต่ที่มีเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันเนื่องมาจากเกษตรกรรม (ส่วนมากจากการใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ) และอุตสาหกรรมที่ใช้กรดไนตริกในกระบวนการผลิต เช่น อุตสาหกรรมผลิตเส้นใยไนลอน อุตสาหกรรมเคมีและพลาสติกบางชนิด


ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrofluorocarbon: HFC)

ใช้เป็นสารทำความเย็น (ทั้งเพื่อการค้าและใช้ในครัวเรือน) เช่น ใช้สำหรับเครื่องปรับอากาศ (ในบ้าน รถ สำนักงาน ฯลฯ) ตู้เย็น ตู้แช่ฯ นอกจากนี้ยังใช้เป็นสารขยายตัวของโฟม ตัวทำละลาย สารสำหรับการดับเพลิง และตัวเร่งละอองของเหลว (Aerosol)


ก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (Perfluorocarbon: PFC)

เป็นก๊าซสังเคราะห์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท โดยกลุ่มก๊าซฟลูออริเนตสามารถนำมาใช้แทนก๊าซคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbon : CFCs) ซึ่งเป็นสารที่ใช้อยู่ในปรับอากาศ ตู้เย็น สเปรย์ น้ำยาดับเพลิง


ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (Sulfur Hexafluoride: SF6)

เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากที่สุดจากการประเมินของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) และมีอายุในบรรยากาศ 3,200 ปี ก๊าซนี้ถูกนำไปใช้ในด้านต่างๆ เช่น ยางรถยนต์ ฉนวนไฟฟ้า การผลิตสารกึ่งตัวนำไฟฟ้า อุตสาหกรรมแมกนีเซียม เป็นต้น


ก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3)

ก๊าซไนโตรเจนไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใช้ในกระบวนการผลิต โดยใช้ในการทำความสะอาดห้อง (Chamber) ที่ใช้สำหรับการให้ไอสารเคมีเกาะติดบนแก้วหรือซิลิคอนเวฟเฟอร์

ทั้งนี้ก๊าซแต่ละชนิดนี้จะมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential :  GWP) ที่แตกต่างกันออกไป ทางคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ได้กำหนดค่าการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของแต่ละก๊าซให้เทียบกับศักยภาพการเกิดภาวะโลกร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนเท่ากับ 1 ซึ่งจะมีหน่วยเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide equivalent : CO2e) โดยตารางคือค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP) ที่ใช้ในการคำนวณค่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในรอบ 100 ปี

 

ชนิดก๊าซเรือนกระจก  สูตรทางเคมี ค่า GWP
Carbon dioxide   CO2 1
Methane CH₄ 25
Nitrous oxide N₂O 298
Hydrofluorocarbon HFCs 124-14,800
Sulphur hexafluoride SF6 22,800
Perfluorocarbon  PFCs 7,390-12,200
Nitrogen trifluoride NF3 17,200


กิจกรรมที่เป็นการปล่อยก๊าซต่างๆ เหล่านี้ส่วนมากเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ล้วนก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และเกิดเป็นภาวะโลกร้อน (Global Warming) นั่นเอง

ภาคธุรกิจถือเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อปัญหาภาวะโลกร้อน และเป็นความหวังในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงทำให้มีเสียงเรียกร้องจากภาครัฐ และผู้บริโภคขอให้ภาคธุรกิจตระหนักและร่วมกันแก้ปัญหา องค์กรจึงจำเป็นต้องมีความรู้ และสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือวิธีการที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพื่อดำเนินธุรกิจโดยไม่เพิ่มปัญหา หรือยิ่งไปกว่านั้นยังสร้างประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก องค์กรควรใส่ใจ และให้ค่าความสำคัญในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยลดการเกิดภาวะโลกร้อน ติดตามข่าวสารด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อนำมาวิเคราะห์ช่องว่างอาจช่วยเพิ่มขีดความสามารถ หรือสร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ รวมถึงลดความเสี่ยงจากการต่อต้านของสังคม และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน ทั้งนี้ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร หรือหน่วยงาน ช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการดำเนินงานที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ส่งผลดีต่อองค์กร และโลกในระยะยาว

 

เรียบเรียงโดย ดร.เพิ่มทรัพย์ เวชสุกรรม รองผู้จัดการฝ่ายพัฒนาระบบ

Last modified on Tuesday, 21 December 2021